หน้าแรก > คอมพิวเตอร์ > It’s backup time! สำรองไฟล์ไว้ ก่อนสายเกินแก้! (ตอนที่ 2)

It’s backup time! สำรองไฟล์ไว้ ก่อนสายเกินแก้! (ตอนที่ 2)

ในตอนที่แล้ว ผมได้แนะนำแนวทางในการสำรองข้อมูลของเครื่องของคุณไว้หลายๆ แบบ ซึ่งเป็นรูปแบบเดิมๆ ที่มีมาตลอด และค่อนข้างมีข้อจำกัดครับ… ถ้าใช้พวก CD/DVD ราคาก็ถูกหน่อย เพราะเครื่องเขียนเดี๋ยวนี้ราคาไม่ถึงพันบาท CD/DVD แผ่นหนึ่งอย่างเก่งก็แผ่นละ 5 บาท แต่แบบนี้จะเขียนได้ครั้งเดียว ถ้าจะเอาแบบเขียนซ้ำได้ ก็ต้องเสียเงินเพิ่ม ที่สำคัญคือความน่าเชื่อถือต่ำมาก หากอยากได้ความน่าเชื่อถือสูงๆ ก็ต้องใช้แผ่นคุณภาพดีมากๆ… ข้อจำกัดอีกประการก็คือ ความเร็วในการบันทึกต่ำ…

น่าเชื่อถือมาอีกหน่อย ก็อาจใช้ฮาร์ดดิสก์ ราคาต่อหน่วยจะถูกหน่อย ความน่าเชื่อถือดีขึ้น แต่เนื่องจากโอกาสเสียก็ยังมี ดังนั้นเลยอาจต้องมีการต่อ RAID ซะบ้าง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ (เดี๋ยวนี้พวกสื่อบันทึกข้อมูลแบบนี้ จะมีขายแบบที่เป็น Storage server แล้ว ในราคาไม่ถึง 15,000 บาท พร้อม RAId น่าเล่นมากทีเดียว… แต่มันมักจะไม่ได้มาพร้อมกับฮาร์ดดิสก์นี่สิ พอรวมค่าฮาร์ดดิสก์แล้วก็ตกสองหมื่นครับ เหมาะกับพวกที่มีข้อมูลที่เอาไปทำเงินได้อยู่ และข้อมูลนั้นสำคัญมากๆ… คงเหมาะกับพวกพี่โน้สอุดม หรือไม่ก็อาจารย์คริส แหละ)

คนเบี้ยน้อยหอยน้อย ก็อาจใช้วิธีซื้อฮาร์ดดิสก์แบบติดตั้งภายนอก (External Harddisk) มาใช้ แล้วก็ใช้โปรแกรม Sync ข้อมูลอย่าง Microsoft SyncToy หรือ AllwaySync ในการ Sync ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ของเขา เข้าไปยังฮาร์ดดิสก์ภายนอก แต่ปัญหาก็คือ มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจจะลืม Sync (แต่ก็พอแก้ได้ด้วยการตั้งค่าการ Sync ให้ดี… แต่จะมีกี่คนครับ ที่สามารถตั้งค่าได้ดี?!?)

สำรองข้อมูลแบบออนไลน์ (Online backup strategy)
ว่ากันว่า “เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราได้ทำการสำรองข้อมูลเอาไว้ หากเราไม่ได้มีข้อมูลนั้น 2 ชุดขึ้นไป เก็บไว้ในสถานที่ที่ต่างกัน” หลายๆ คน ยังมีความเชื่อผิดๆ ในเรื่องนี้กันอยู่ เพราะผมเคยได้ยินเพื่อนผมพูดอยู่บ่อยๆ ว่า ได้ทำการแบ็กอัพรูปภาพจากคอมพิวเตอร์ลงในแผ่น DVD เอาไว้แล้ว แต่พอผมขอให้เปิดภาพในคอมฯ ให้ดูหน่อย เขาก็บอกว่า ลบทิ้งไปแล้ว… อ้าว! แล้วแบบนี้จะเรียกว่าแบ็กอัพได้ยังไง? แบบนี้เขาเรียกว่า ย้ายที่เก็บข้อมูลเฉยๆ ต่างหากล่ะ

อยากให้พวกคุณๆ ทำความเข้าใจกันใหม่นะครับ

สำหรับองค์การที่มีนโยบายเกี่ยวกับการสำรองข้อมูลที่เข้มงวด เขาจะต้องทำการสำรองข้อมูลอีก 1 ก็อปปี้เป็นอย่างน้อย แล้วกำหนดให้มีการนำก็อปปี้ดังกล่าวไปเก็บไว้ที่อื่น อาจจะเป็นที่บ้านผู้บริหารเอง ถามว่าทำไมจึงต้องยุ่งยากขนาดนั้นด้วย? ลองสมมติว่า คุณเป็นเจ้าหน้าที่ IT และทำการสำรองข้อมูลสำคัญของบริษัทมูลค่าพันล้านเอาไว้ในแผนก แน่นอนว่าคุณมีข้อมูลจริง 1 ชุด และมีสำเนาของข้อมูล 1 ชุด แต่อยู่มาวันดี เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในแผนก ทำให้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทั้งหมดเสียหาย ถ้าเป็นแบบนี้ ข้อมูลทั้งสองชุด ทั้งของจริงและสำเนา ก็เจ๊งหมด จริงไหมครับ?

สำหรับองค์การซึ่งมีข้อมูลจำนวนมาก มีทุนหนา เขาก็สามารถที่จะสำรองข้อมูลลงพวกเทปแบ็กอัพไว้ แล้วให้ผู้บริหาร หรือใครซักคนเอาไปเก็บไว้ได้… แต่สำหรับตามบ้านทั่วไป หรือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่บ้านเราเรียกว่าพวก SMEs แล้วละก็ เรื่องพวกนี้ก็ค่อนข้างยุ่งยากครับ ไหนจะต้องตั้งค่าสำรองข้อมูล ไหนจะต้องกู้ข้อมูลกลับเวลาเกิดปัญหา ไหนจะค่าอุปกรณ์อีก มันจึงเป็นที่มาของการสำรองข้อมูลแบบออนไลน์ครับ

มันทำงานยังไง? ง่ายมากครับ เพียงแค่สมัครใช้งาน จากนั้นก็ดาวน์โหลดโปรแกรมมา และติดตั้งโปรแกรมที่ผมจะขอเรียกว่า client เอาไว้ในเครื่องของเรา และทำการเลือก folder หรือ file หรือข้อมูลใดๆ ที่ต้องการทำสำรองข้อมูล และเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของคุณกับอินเตอร์เน็ตซะ ที่เหลือ เจ้า client นี้ก็จะดำเนินการต่อให้เสร็จ ง่ายไหมครับ เขียนอธิบายมาซะยาวยืด แต่อธิบายไม่กี่บรรทัดจบ (ฮา)

ทีนี้มาดูคำถามที่อาจเกิดขึ้นในหัวพวกคุณบ้าง

1. บริการพวกนี้ฟรีหรือเปล่า?
คำตอบคือ มีทั้งแบบที่ฟรีและไม่ฟรีครับ บางแห่งให้บริการแต่แบบคิดเงินเท่านั้น เช่น Carbonite (เป็นบริการที่ผมใช้อยู่ เสียค่าธรรมเนียมปีละ $54.95) กับบางที่ ที่มีทั้งแบบเสียเงินและไม่เสียเงิน เช่น Mozy (ผมก็ใช้บริการนี้อยู่เหมือนกับ กับคอมพิวเตอร์บางเครื่อง ที่เก็บข้อมูลงานทั่วไป เพราะใช้พื้นที่น้อย เลยขอใช้แบบฟรีๆ ได้มา 2GB) แล้วก็ที่อื่นๆ อีก เช่น Wuala หรือ SkyDrive ของ Microsoft เป็นต้น

2. บริการแบบนี้มีตั้งเยอะแยะ แล้วจะเลือกใช้ยังไงดี?
ผมเลือกใช้ Carbonite เพราะว่า ค่าบริการถูกสุดครับในบรรดาทุกที่ ให้พื้นที่ในการสำรองข้อมูลแบบไม่จำกัด ถ้าเป็น Mozy จะอยู่ที่ $59.40 ต่อปี แพงกว่ากันนิดหน่อย… ทั้งสองเจ้านี้การกำหนดสำรองข้อมูลง่ายพอๆ กันครับ เพราะมันจะเพิ่ม context menu เอาไว้ จึงสามารถคลิกขวาเลือกไฟล์หรือโฟลเดอร์ที่ต้องการจะสำรองข้อมูล แล้วก็เลือกสำรองข้อมูลได้เลย 

 ส่วนพวก Wuala กับ SkypeDrive นั้น ไม่สะดวกแบบ Carbonite หรือ Mozy ครับ เพราะมันจะถูกมองว่าเป็น Network Drive นึง หรือโฟลเดอร์พิเศษ บน Windows Explorer แทน การที่จะสำรองข้อมูลนั้น ก็เลยต้องพึ่งพาโปรแกรม Sync อย่างพวก SyncToy หรือ AllwaySync เข้าช่วย (ย้อนกลับไปอ่านเกี่ยวกับโปรแรกม Sync)

3. เอาไฟล์ไปวางไว้ที่อื่นแบบนี้ ไม่กลัวข้อมูลรั่วไหล คนอื่นแอบอ่านได้เหรอ?
โปรแกรมพวกนี้จะทำการเข้ารหัสข้อมูลที่คุณจะอัพโหลดก่อนทุกครั้ง จึงเป็นที่มาที่จะต้องติดตั้งโปรแกรม client บนเครื่องของเรายังไงล่ะครับ อย่าง Mozy เนี่ย จะเข้ารหัส 448-bit Blowfish สำหรับไฟล์ก่อน จากนั้นเวลาจะส่งข้อมูลก็เข้ารหัส 128-bit SSL อีกที สำหรับ Carbonite ก็ใช้ 128-bit SSL เช่นกัน… จริงๆ แล้ว ผมมองว่านอกจากใช้งานตามบ้านแล้ว ธุรกิจแบบ SMEs ก็สามารถใช้บริการได้ด้วยเหมือนกันนะครับ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาแอบอ่านข้อมูลของคุณหรอกครับ ถ้าจะให้พูดกันตามตรง ผมว่าข้อมูลในองค์การของคุณ เสี่ยงต่อการถูกพนักงานในบริษัทเอาออกไปผ่านทางพวก Flash Drive หรืออีเมล์มากกว่าอีก

เราสามารถกำหนดให้โปรแกรมพวกนี้ (Carbonite และ Mozy) ทำการสำรองข้อมูลตามเวลาที่กำหนดได้ตามต้องการ หรือจะให้โปรแกรมพิจารณาเองว่าเมื่อใดจะสำรองข้อมูลก็ได้ (ส่วนใหญ่จะทำเมื่อคอมพิวเตอร์ไม่ค่อยได้ใช้งานอินเตอร์เน็ต) จากที่ผมทดลองใช้ทั้งสองยี่ห้อ ไม่พบว่าความเร็วอินเตอร์เน็ตช้าลงแต่อย่างใดครับ เพราะมันจะถือว่าการใช้งานอินเตอร์เน็ตตามปรกติมีความสำคัญมากกว่า

อย่างไรก็ดี ในการใช้งานครั้งแรก พึงระลึกไว้เสมอว่า คุณจะต้องสำรองข้อมูลจำนวนมากขึ้นไปไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของเขาก่อน ดังนั้นอาจกินเวลานานกว่าจะเสร็จ ขึ้นอยู่กับว่าคุณสำรองข้อมูลจำนวนมากแค่ไหน ยกตัวอย่างของผม ผมสำรองพวกรูปถ่ายและไฟล์เสียง ก็ประมาณ 20GB กว่าจะอัพโหลดไปสำรองจนครบก็อ้วกพอสมควรครับ

เอาล่ะ… It’s backup time! ได้เวลาสำรองข้อมูล ก่อนที่จะต้องมาเสียใจเพราะข้อมูลหายกันแล้ว!

  1. ยังไม่มีความเห็น
  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น